ห้อง 81
ทำความสะอาดลานถนนพระราม 1 ในโครงการ Big Cleaning Day “เราทำความดี ด้วย หัวใจ” & การพัฒนาคุณภาพชีวิตด้านการศึกษาแก่ผู้พิการทางสายตา & โครงการทำเข็มกลัดแบ่งปันเพื่อเด็กและสตรี
กิจกรรมที่ 1 ทำความสะอาดลานถนนพระราม 1 ในโครงการ Big Cleaning Day “เราทำความดี ด้วย หัวใจ”
ที่มาและความสำคัญ
ในปัจจุบัน ปัญหาสังคมมีมากมาย ปัญหาส่วนหนึ่งก็เกิดจากการที่ผู้คนต่างละเลยถึง จิตสาธารณะ และการมองเห็นประโยชน์ของส่วนรวม ซึ่งจิตสาธารณะ นั้นหมายถึง จิตสาธารณะเพื่อส่วนรวม โดยการมีจิตสาธารณะของผู้คนทั้งหลายถือเป็นสิ่งสำคัญในการแก้ไขสังคมและพัฒนาสังคมให้ก้าวหน้า ซึ่งก่อให้เกิดประโยชน์ต่อสังคมไม่น้อย
การทำกิจกรรมเพื่อสังคมนี้ สามารถทำได้ในหลายวิธี เช่น ส่งหนังสือบริจาคไปตามองค์กรการกุศล ให้ผู้ยากไร้ ซึ่งเป็นการสร้างสาธารณประโยชน์โดยการให้ความสุขแก่คนยากไร้ เป็นต้น ซึ่งกิจกรรมทำความสะอาดบริเวณสยามก็จัดว่าเป็นกิจกรรมเพื่อสาธารณประโยชน์ โดยจัดเป็นการดูแลพื้นที่สาธารณะในรูปแบบหนึ่ง และเป็นการสนันสนุน โครงการของหน่วยพระราชทาน และประชาชนจิตอาสาอีกด้วย
วัตถุประสงค์
1. เพื่อตระหนักถึงประโยชน์ของการมีจิตสาธารณะ
2. เพื่อดูแลภูมิทัศน์บริเวณสยาม
3. เพื่อสนับสนุนโครงการของหน่วยพระราชทาน และประชาชนจิตอาสา
เวลาและสถานที่
วันพุธที่ 25 กรกฎาคม พ.ศ. 2561
ณ บริเวณสกายวอล์คสี่แยกปทุมวัน จนถึงบริเวณวัดปทุมวนาราม
กิจกรรมที่ 2 การพัฒนาคุณภาพชีวิตด้านการศึกษาแก่ผู้พิการทางสายตา
ที่มาและความสำคัญ
“จิตอาสา” คือจิตที่ไม่นิ่งดูดายต่อสังคม หรือความทุกข์ยากของผู้คน และปรารถนาเข้าไปช่วย ไม่ใช่ด้วยการให้ทาน ให้เงิน แต่ด้วยการสละเวลา ลงแรงเข้าไปช่วย ด้วยจิตที่เป็นสุขที่ได้ช่วยผู้อื่น จะเน้นว่า ไม่ใช่แค่ทำประโยชน์เพื่อผู้อื่นอย่างเดียว แต่เป็นการพัฒนา “จิตวิญญาณ” ของเราด้วย
กิจกรรมอาสาสมัคร เป็นกระบวนการของการฝึก “การให้” ที่ดีเพื่อขัดเกลาละวางตัวตน และบ่มเพาะความรัก ความเมตตาผู้อื่น โดยไม่มีเงื่อนไข ทั้งนี้ กระบวนการของกิจกรรม ซึ่งเป็นการยอมสละตน เพื่อรับใช้และช่วยเหลือแก้ไขวิกฤติปัญหาของสังคม อาสาสมัครจะได้เรียนรู้ละเอียดอ่อนต่อสิ่งที่เกิดขึ้นรอบตัวมากขึ้น สัมผัสความจริง เชื่อมโยงเหตุและปัจจัยความสุขและความทุกข์ เจริญสติในการปฏิบัติงาน ที่ศาสนาพุทธเรียกว่า พรหมวิหาร ๔ คือ เมตตา กรุณา มุทิตา และอุเบกขา เพื่อให้เกิด “การให้” ที่ดี กิจกรรมอาสาสมัคร จึงเป็นกระบวนการที่ช่วยให้บุคคลได้ขัดเกลาตนเอง เรียนรู้ภายใน และเกิดปัญญาได้
ผู้จัดทำได้เล็งเห็นถึงปัญหาความไม่เท่าเทียมและอุปสรรคในการดำเนินชีวิตของนักเรียนผู้มีความพิการทางสายตา จึงได้ริเริ่มจัดกิจกรรมโครงงานพัฒนาคุณภาพชีวิตด้านการศึกษาแก่ผู้พิการทางสายตานี้ขึ้น เพื่อช่วยเหลือ สอนการบ้านและงานต่างๆให้กับผู้พิการทางสายตา
วัตถุประสงค์
1. เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของนักเรียนผู้พิการทางสายตา
2. เพื่ออำนวยความช่วยเหลือในด้านการศึกษาให้กับผู้พิการทางสายตา
3. เพื่อความมีจิตสาธารณะ รู้จักการทำงานในสังคมร่วมกัน
4. เพื่อฝึกทักษะในการติดต่อประสานงานกับองค์กรภายนอก
5. เพื่อฝึกทักษะในการถ่ายทอดความรู้ความสามารถที่มีให้เป็นประโยชน์ต่อผู้อื่น
6. เพื่อเรียนรู้ลักษณะความเป็นอยู่ของผู้พิการทางสายตา และช่วยเหลือเท่าที่สามารถช่วยได้
เวลาและสถานที่
วันศุกร์ที่ 17 สิงหาคม พ.ศ. 2561
ณ มูลนิธิช่วยคนตาบอดแห่งประเทศไทยในพระบรมราชินูปถัมภ์
กิจกรรมที่ 3 โครงการทำเข็มกลัดแบ่งปันเพื่อเด็กและสตรี
ที่มาและความสำคัญ
จากที่นักเรียนห้อง 81 ได้สำรวจ ว่าเด็กและสตรีที่ถูกกระทำความรุนแรงในประเทศไทยเฉลี่ยวันละ 66 ราย เป็นเด็ก 10,712 ราย สตรี 13,265 ราย (สถิติจากกระทรวงสาธารณสุข 2558) แบ่งเป็น ความรุนแรงทางร่างกาย ความรุนแรงทางอารมณ์และจิตใจ ความรุนแรงทางเพศ และความรุนแรงทางด้านการถูกละเลย หรือทอดทิ้ง ดังที่เป็นข่าวรายวันอยู่บ่อยครั้ง ในจำนวนผู้ถูกกระทำความรุนแรงเหล่านั้นก็มักจะเป็นกลุ่มด้อยโอกาสด้านอื่นๆ เช่น การศึกษา ฐานะทางเศรษฐกิจ หรืออาศัยอยู่กับครอบครัวและชุมชนที่มีสิ่งแวดล้อมไม่เหมาะสม ซึ่งเมื่อได้รับความรุนแรงจำเป็นต้องได้รับความช่วยเหลือเพื่อฟื้นฟูทางด้านร่างกาย จิตใจ ที่พักพิง อาหาร เครื่องนุ่งห่ม หรือต้องได้รับความความช่วยเหลือทางด้านกฎหมาย ผู้จัดทำตระหนักถึงความจำเป็นที่จะช่วยเหลือฟื้นฟูให้เขาเหล่านั้นสามารถกลับคืนสู่ครอบครัว ชุมชน และสังคมอย่างปกติสุขอีกครั้ง อีกครั้ง จึงเข้าร่วมกิจกรรมอาสา “เข็มกลัดแบ่งปันเพื่อเด็กและสตรี” ของทางมูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคมเพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการแบ่งปันความช่วยเหลือ และเยียวยาเด็กและสตรีที่ได้รับผลกระทบจากการถูกกระทำความรุนแรงดังกล่าวข้างต้นต่อไป
วัตถุประสงค์
1. เพื่อสนับสนุนและส่งเสริมการดูแลเด็กและสตรีที่ถูกล่วงละเมิด
2. เพื่อศึกษาวิธีทำเข็มกลัดอย่างง่าย
เวลาและสถานที่
วันอาทิตย์ที่ 19 สิงหาคม พ.ศ. 2561
ณ ห้องสมุดประชาชนซอยพระนาง จัดโดยมูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม